ONLINE MAGAZINE

วิบากกรรมธุรกิจไฮเทคจีน จบ หรือ ไม่จบ

บทความโดย: Admin

ผลงานของ Trump ด้านนโยบายจีน มีมากมายมหาศาล เมื่อเทียบกับยุคผู้นำคนอื่นๆ แต่มาตรการเหล่านั้นได้ส่งผลดีหรือผลเสียกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากน้อยแค่ไหน ยังไม่ชัดเจน เพราะคำสั่งบางเรื่อง กว่าจะมีผลบังคับใช้ ก็มาถึงสมัยประธานาธิบดี Joe Biden ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยน หรือยกเลิก หรือเพิ่มเติม ก็ต้องติดตามกันไป อย่างน้อยๆ ธุรกิจจีนบางส่วนอาจหายใจทั่วท้องได้บ้าง

ก้าวสู่ศักราชใหม่ 2021 ไปเรียบร้อยแล้ว แถมยังเป็นปี วัวทองน่าจะพบเจอสิ่งดีๆ มากกว่าปีที่ผ่านๆ มา สำหรับธุรกิจแดนมังกร ไม่ต้องพลิกตำราดูการโคจรของดวงดาวให้เสียเวลา แค่ประธานาธิบดี Donald Trump พ้นจากเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ ก็ถือว่าเป็นปีมงคลของจีนแล้ว ส่วนนาย Joe Biden ประธานาธิบดีป้ายแดง จะวาดลวดลายกับจีนอย่างไร ค่อยวางแผนรับมือกันต่อไป

ธุรกิจจีนบอบช้ำมากในยุคผู้นำ Trump เพราะแนวนโยบายของสหรัฐฯในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บอกได้เลยว่า ต้องการคุมประพฤติจีนอย่างเด็ดขาด ที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือ การบีบจีนในกรณีการค้ากับสหรัฐฯ เพราะเป็นเรื่องที่คนอเมริกันและชาวโลกรู้กันอยู่เต็มอกว่า สหรัฐฯขาดดุลการค้ากับจีนมโหฬาร ดังนั้น การแก้ไขปรับปรุงประเด็นเรื่องความไม่สมดุลทางการค้ากับจีน น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ Trump จะได้ครองใจคนอเมริกัน

การจัดการปัญหาของ Trump ดุดันและส่งผลกระทบต่อเวทีการค้าโลก เพราะการใช้กำแพงภาษีลงโทษจีน จนกลายเป็นสงครามการค้าระหว่างกัน สร้างความเสียหายทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคภายในสหรัฐฯและจีนอย่างกว้างขวาง

เมื่อการใช้มาตรการภาษีเล่นงานสินค้านำเข้าจากจีน ชักเริ่มกร่อย ทีมงานของ Trump ก็หันไปกระซิบว่าควรเปลี่ยนเป้าหมายโจมตีบ้าง เพื่อโชว์เขี้ยวเล็บใหม่ๆ ของสหรัฐฯ ในที่สุด ก็ลงตัวที่ Huawei ธุรกิจไฮเทคจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตสมาร์ตโฟนรายใหญ่และกำลังทำมาหากินคล่องตัว โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ เนื่องจาก Huawei เป็นผู้นำการวางเครือข่ายโทรคมนาคม 5G ที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั้งด้านราคาและคุณภาพ

จู่ๆ Trump ก็เล่นงาน Huawei แบบไม่ทันตั้งตัว โดยกล่าวหาว่า Huawei มีพฤติกรรมลับๆ ล่อๆ น่าจะเป็นสปายสายลับให้แก่ทางการจีน จึงห้าม Huawei ทำธุรกิจ 5G ในแผ่นดินโคบาล แถมยังชักชวนประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ให้คล้อยตามว่า Huawei เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศแน่ ขืนใจอ่อนปล่อยให้เข้าไปวางโครงข่ายด้านสื่อสารโทรคมนาคม 5G แล้วละก้อ ความลับทางการทหารและความมั่นคง ต้องตกอยู่ในกำมือของผู้นำบู๊ลิ้มทั้งหมด ปรากฏว่า พวกชาติพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และชาติยุโรป แห่กันเขี่ย Huawei ออกจากโครงการ 5G ของประเทศกันเป็นแถว เปิดทางให้บริษัทอื่นๆ เช่น Nokia, Ericsson, NEC และ Fujitsu เป็นต้น เตรียมแต่งตัวเข้าเสียบเครือข่าย 5G แทน Huawei ทันที

ไม่ว่า Huawei จะแก้ตัวยังไงๆ Trump และทีมงานก็ไม่ฟัง อีกทั้ง ยังออกคำสั่งเพิ่มเติมห้ามธุรกิจอเมริกันร่วมงานกับ Huawei โดยเฉพาะการค้าขายสินค้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนประกอบไฮเทคให้แก่ Huawei ต้องได้รับอนุญาตจากทางการสหรัฐฯก่อน แต่ดูเหมือน Huawei ยังอยู่ดีมีสุข ทำให้สหรัฐฯ เพิ่มแรงกดดันมากขึ้น โดยห้ามบริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจไฮเทคกับสหรัฐฯ เข้าไปยุ่งเกี่ยวค้าขายกับ Huawei เด็ดขาด พูดง่ายๆ ก็คือ สหรัฐฯ พยายามอุดช่องโหว่ไม่ให้ Huawei เข้าถึงชิ้นส่วนประกอบสำคัญที่ใช้ในการผลิตสมาร์ตโฟนและการวางระบบ 5G นั่นเอง

งานนี้ Huawei พยายามกลบเกลื่อนความเสียหายที่อาจได้รับจากมาตรการปิดล้อมโจมตีของสหรัฐฯ โดยระบุว่า Huawei มีสต๊อกชิ้นส่วนประกอบและอุปกรณ์สำคัญๆ เพียงพอที่จะใช้ในการผลิตสมาร์ตโฟนและวางเครือข่าย 5G ต่อไป แต่แวดวงสื่อสารโทรคมนาคมของโลก มองอาการของ Huawei ในช่วงก่อนปิดฉากปี 2020 ดูอ่อนล้าลง และคาดว่า Huawei กำลังปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยหันไปเพิ่มงานวิจัยและพัฒนาทางด้านซอฟต์แวร์มากขึ้น เริ่มเน้นด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI), Internet of Things (IoT) และ Cloud Computing เป็นต้น เพื่อสร้างสมดุลทางธุรกิจ

ถามว่า Trump พอใจหรือยังที่บีบ Huawei ยักษ์ใหญ่ด้านสื่อสารโทรคมนาคมของจีนได้สำเร็จในระดับหนึ่ง คำตอบก็คือ NO แม้ว่าเขารู้อยู่เต็มอกว่าจะอยู่ในตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯอีกไม่นาน แต่ Trump กะว่าจะเล่นงานจีนจนกระทั่งลุกออกจากเก้าอี้ทำเนียบขาว

จึงไม่แปลกที่ Trump ยังทยอยออกคำสั่งเล่นงานธุรกิจจีนเป็นระยะๆ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2020 เป็นต้นมา เริ่มจากคำสั่งห้ามนักลงทุนอเมริกัน เข้าไปลงทุนในบริษัทหรือกิจการของจีน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพจีนหรือหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ ของจีน เพราะถือว่าบริษัทพวกนี้ เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพื่อหลอกล่อนักลงทุนอเมริกันให้เข้ามาลงทุน และกอบโกยเม็ดเงินลงทุนไปให้ทางการจีนพัฒนาศักยภาพทางทหารอย่างสบายๆ ด้วยเงินคนอเมริกัน

ในคำสั่งได้ให้กระทรวงกลาโหมและกระทรวงต่างประเทศเมืองลุงแซม เป็นผู้ระบุว่า บริษัทไหนของจีนเข้าข่ายบ้าง เพื่อที่จะได้ประกาศให้คนอเมริกันรับรู้ และให้ตลาดหุ้นเตรียมถอดถอนกิจการเหล่านั้นออกจากตลาดในที่สุด เบื้องต้นพบว่า บริษัทที่น่าจะมีเอี่ยวกับหน่วยงานความมั่นคงของจีน มีจำนวนราวๆ 35 ราย ซึ่งตลาดหุ้นมะกันให้เวลาที่นักลงทุนสามารถปรับพอร์ตการลงทุนไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2021 พูดง่ายๆ ก็คือ ให้เวลาราว 1 ปี ยกตัวอย่างบริษัทจีนที่ถูกมองว่าเป็นตัวอันตราย อาทิ China Mobile, China Telecom Corp Ltd, China Unicom Hong Kong Ltd, Semiconductor Manufacturing International Corp และ Hangzhou Hikyision digital Technology Co เป็นต้น

เมื่อย่างเข้าศักราชใหม่ 2021 ซึ่ง Trump น่าจะเตรียมตัวอำลาตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯอย่างสันติ แต่ปรากฏว่าความยุ่งเหยิงวุ่นวายทางการเมืองภายในสหรัฐฯ กลับน่าเวทนาพอๆ กับวิกฤติโควิด-19 ของประเทศ ที่ทำลายศรัทธาในความยิ่งใหญ่ของประเทศมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกอย่างสิ้นเชิง

เชื่อหรือไม่ Trump และทีมงาน ยังไม่หยุดเล่นงานจีน โดยมอบของขวัญปีใหม่ให้แก่แดนมังกร ด้วยการออกคำสั่งห้ามธุรกิจอเมริกันทำธุรกรรมต่างๆ กับแอปฯของจีน ที่ส่อเค้าทำลายความมั่นคงของสหรัฐฯ เช่น Alipay, QQ Wallet, WeChat Pay, CamScanner, SHAREit, VMate และ WPS Office ในสายตาของทีมงาน Trump เห็นว่า แอปฯพวกนี้ ได้รับความนิยมจากคนอเมริกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หวาดระแวงว่าบริษัทบู๊ลิ้มพวกนี้ จะมีฐานข้อมูลของคนอเมริกันอย่างเป็นกอบเป็นกำ และอาจนำไปใช้ในเรื่องอื่นๆ ที่ส่งผลเสียแก่เศรษฐกิจสหรัฐฯในระยะต่อไป

ขณะเดียวกัน ทีมงาน Trump ยังเตรียมสร้างผลงานเพื่อให้ทางการจีน ได้จดจำว่า Trump เป็นผู้นำเมืองอินทรี ที่บีบจีนตั้งแต่ปีแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี จนเกือบวินาทีสุดท้ายในฐานะผู้นำสหรัฐฯ โดยมีข่าวแว่วมาว่า Alibaba Group Holding Ltd และ Tencent Holdings Ltd ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจออนไลน์ของจีน อาจโดนขึ้นบัญชีดำว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพจีน ทำให้การซื้อขายหุ้นของบริษัททั้งสองในตลาดหุ้นสหรัฐฯปั่นป่วนอย่างหนักต้อนรับปีวัวทอง เพราะนักลงทุนเกรงว่าบริษัทชั้นนำจีนอาจต้องเก็บกระเป๋าออกจากตลาดหุ้นมะกัน กลับเมืองจีนในไม่ช้า

โดยสรุป ผลงานของ Trump ด้านนโยบายจีน มีมากมายมหาศาล เมื่อเทียบกับยุคผู้นำคนอื่นๆ แต่มาตรการเหล่านั้นได้ส่งผลดีหรือผลเสียกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากน้อยแค่ไหน ยังไม่ชัดเจน เพราะคำสั่งบางเรื่อง กว่าจะมีผลบังคับใช้ ก็มาถึงสมัยประธานาธิบดี Joe Biden ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยน หรือยกเลิก หรือเพิ่มเติม ก็ต้องติดตามกันไป อย่างน้อยๆ ธุรกิจจีนบางส่วนอาจหายใจทั่วท้องได้บ้าง

แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจไฮเทคของจีน กลับต้องกุมขมับแสนเหน็ดเหนื่อยต่อไป เนื่องจากทางการจีน ลุกขึ้นมาจัดระเบียบธุรกิจอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะกิจการด้านไฮเทค หลังจากที่มหาเศรษฐี Jack Ma แห่งค่าย Alibaba ได้ออกมาวิจารณ์การทำงานของภาครัฐในที่ประชุมนักธุรกิจอย่างไม่เกรงอกเกรงใจ เมื่อเดือนตุลาคม 2020 โดยระบุว่าทางการจีนพะวงเรื่องความมั่นคงเกินไป จนบั่นทอนเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ แถมยังกล่าวทีเล่นทีจริงว่า ธนาคารทำงานเหมือนโรงรับจำนำ มองหาแต่หลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อปล่อยกู้ ถ้าใครไม่มีอะไรมาค้ำประกัน ก็อดไปก่อน

ความเคลื่อนไหวที่รู้สึกได้ว่าทางการจีน ชักเริ่มเคืองและต้องการสั่งสอนพวกนักธุรกิจมือหนึ่งของประเทศ ได้เปิดฉากทันที บทเรียนแรกก็คือ การออกหุ้นใหม่ของ Ant Group ซึ่งเป็นกิจการทางการเงินออนไลน์ของนาย Ma ต้องหยุดชะงักอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ก่อนที่จะออกขายในตลาดหุ้นฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้เพียง 48 ชั่วโมง นักลงทุนทั้งงงทั้งมึนไปทั่ว ตอนนี้การออกหุ้นของ Ant ยังคงเป็นปริศนาว่าจะเป็นหมันหรือไม่

หลังจากนั้นไม่นานเกินรอ หน่วยงานด้านกำกับดูแลการผูกขาดทางธุรกิจ หรือ The State Administration of Market Regulation (SAMR) ก็แผลงอิทธิฤทธิ์ทันควันในเดือนพฤศจิกายน โดยระบุว่า เตรียมที่จะปรับเงินกับ Alibaba, China Literatrue (ในเครือ Tencent) และ Shenzhen Hive Box รายละเกือบ 80,000 ดอลลาร์ ในโทษฐานเข้าไปซื้อกิจการต่างๆ ที่อาจเข้าข่ายการผูกขาด ทำลายการแข่งขัน ซึ่งกรณีเหล่านี้ ล้วนเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2014 บ้าง 2017 บ้าง ล่าสุดก็ราวๆ 2018 ซึ่งไม่น่าจะมาขุดคุ้ยกันอีก

แต่สำหรับ SAMR แถลงชัดเจนว่า ต่อไปนี้จะเข้มงวดกับการใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาด หรือ The 2008 anti-monopoly law เพราะที่ผ่านมามัวแต่ตรวจสอบธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาทำกิจการในแดนมังกร และไล่ปรับแต่พวกต่างชาติ จนอาจละเลยพวกธุรกิจบู๊ลิ้มด้วยกันเอง ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีพฤติกรรมทางธุรกิจที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะรังแกคู่แข่ง หรือเอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งนี้ SAMR จะรื้อดูสัญญาการซื้อขายของกิจการต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ความจริงกฎหมายได้กำหนดให้ธุรกิจต้องรายงานการซื้อขายกิจการอย่างเป็นทางการต่อ SAMR แต่จำนวนไม่น้อยมักจะเพิกเฉยกัน ในช่วง 10 ปีที่แล้ว ธุรกิจไฮเทคจีนมีการซื้อขายกิจการราว 8,700 สัญญา คิดเป็นมูลค่าประมาณ 500,000 ล้านดอลลาร์ ก็ไม่รู้ว่า SAMR จะตามล้างตามเช็ดไหวแค่ไหน

ผลงานของ SAMR ที่ตลาดเงินและตลาดหุ้นเฝ้ามองตาไม่กะพริบก็คือ การประกาศเข้าตรวจสอบสืบสวน Alibaba เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่าละเมิดกฎหมายห้ามผูกขาด โดยมีเจ้าทุกข์มาร้องเรียนมากมาย และบางส่วนก็อยู่ในระหว่างการฟ้องร้องกัน จึงทำให้ SAMR ต้องเข้ามาสืบสวนข้อเท็จจริง เพื่อความยุติธรรมทุกฝ่าย

งานนี้ Alibaba โดนโจมตีว่าทำตัวเป็นเจ้าพ่อในวงการการค้าออนไลน์ โดยลูกค้าที่ต้องการนำสินค้ามาวางขายในแพลตฟอร์มของ Alibaba ซึ่งได้แก่ Taobao และ Tmall ลูกค้ารายนั้นๆ ต้องทำสัญญาว่าจะไม่นำสินค้าไปวางในแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่างเด็ดขาด หากฝ่าฝืนก็จะไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการจากแพลตฟอร์มของ Aliibaba พูดตรงๆ ก็คือ Alibaba ต้องการกีดกันคู่แข่งในธุรกิจค้าออนไลน์ทั้งหมด

บริษัทคู่แข่งอย่าง JD.com ได้เคยร้องเรียนเรื่องราวพวกนี้ให้แก่ทางการมาแล้วตั้งแต่ปี 2015 แถมยังชี้อีกว่าพฤติกรรมของ Alibaba ที่คุกคามคู่แข่งมีมาตั้งแต่ปี 2013 ทางด้าน JD.com เคยเรียกค่าเสียหายเป็นมูลค่าราว 1,000 ล้านหยวน เนื่องจากลูกค้าถอนตัวออกจากแพลตฟอร์มของตนนับร้อยราย แต่เรื่องราวเหล่านี้ กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจจากทางการจีนในระยะนั้น และที่เก็กซิมยิ่งขึ้นก็คือ Alibaba พยายามฟ้องร้องกลับอีกต่างหาก อย่างไรก็ตาม เรื่องราวพวกนี้ จะต้องได้รับการสอบสวนจาก SAMR อย่างละเอียดอีกครั้ง

ไม่ใช่แค่คู่แข่งทางการค้าที่ออกมาเปิดโปง ปรากฏว่าลูกค้าของ Alibaba เอง ก็หันมาปูดให้ชาวบ้านได้รับรู้ถึงมุมมืดของ Alibaba โดยบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไมโครเวฟ Guangdong Galanz Enterprise Co ยื่นฟ้องร้อง Tmall เมื่อเดือนตุลาคม 2019 ที่ให้บริการย่ำแย่สุดทน จนการค้าขายออนไลน์ของ Galanz เสียหาย ทั้งนี้ น่าจะมีสาเหตุมาจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ Galanz ไปร่วมทริปเดินทางกับบริษัทคู่แข่งยอดฮิต Pinduoduo ในเดือนพฤษภาคม 2019 แต่อย่างไรก็ตาม คดีนี้กลับประนีประนอมกันในที่สุด

SAMR ไต้เตรียมสืบสวนพฤติกรรมของ Alibaba อย่างรอบคอบ และจะสอดส่องการดำเนินธุรกิจของบริษัทไฮเทคชั้นนำอื่นๆ อีก เนื่องจากกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ เติบโตรวดเร็วและมีการเก็บข้อมูลลูกค้าเป็นจำนวนมหาศาล จึงควรมีจริยธรรมทางธุรกิจและความโปร่งใสจริงจัง

เรื่องราวของ Alibaba ยังสดๆ ร้อนๆ ปรากฏว่าอีก 2-3 วันต่อมา ก่อนฉลองปีฉลู เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ บริษัท Ant Group (ซึ่งเป็นกิจการสุดเลิฟของ Jack Ma) ก็ต้องไปพบกับเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติจีน พร้อมกับหน่วยงานผู้คุมกฎด้านการเงินการธนาคารของแดนมังกรอีกหลายหน่วย เพื่อรับฟังคำแนะนำจากทางการจีนว่า Ant ควรปรับปรุงกิจการอย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับระบบเศรษฐกิจและการเงินจีนในภายหน้า

พูดให้ตรงเป้าก็คือ ทางการจีนต้องการตัดตอนควบคุมกิจการของ Ant ให้เล็กลง จะเห็นว่า ในช่วงแรกๆ Ant ทำธุรกิจชำระเงินออนไลน์เป็นหลัก แต่ต่อมาก็ขยายกิจการจนเกือบเป็นสถาบันการเงินเต็มตัว เพราะให้บริการเงินกู้แก่ลูกค้า ทำธุรกิจประกัน และบริการด้านบริหารจัดการสินทรัพย์อีกด้วย โดย Ant จะใช้ฐานข้อมูลของลูกค้ามาเป็นสถิติผ่านกระบวนการวิเคราะห์เพื่อช่วยในการตัดสินใจว่าควรปล่อยกู้หรือไม่ หรือควรเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบไหนแก่ลูกค้า

โดยสรุปก็คือ การพูดคุยระหว่าง Ant กับแบงก์ชาติและหน่วยงานกำกับดูแลฯ น่าจะเกิดขึ้นอีกหลายรอบในช่วงปี 2021 ซึ่งนักลงทุนและนักวิเคราะห์เดากันว่า เผลอๆ ทางการจีนอาจให้ Ant กลับไปทำธุรกิจชำระเงินออนไลน์แบบดั้งเดิมก็พอ แต่ถ้าอยากเป็นสถาบันการเงินเต็มตัว ก็ต้องปรับโครงสร้างกิจการใหม่ เพื่อความมั่นคง และที่น่าพะวงที่สุดก็คือ ทางการจีนอาจขอมีเอี่ยวร่วมถือหุ้นในโครงสร้างกิจการใหม่ของ Ant ด้วย

แค่เริ่มศักราชใหม่ กลุ่มธุรกิจไฮเทคจีน คงต้องจัดระเบียบตัวเอง ให้อยู่เป็นเก็บคำพูดคำจาให้มากที่สุด ไม่งั้นอาจได้เข้าก๊วนเพื่อนซี้กับ Jack Ma ซึ่งธุรกิจชั้นนำอย่าง Alibaba และ Ant ต้องสั่นสะเทือนอย่างน่าเสียดาย!!